วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทความที่ 2 คุณธรรม จริยธรรม ภูมิคุ้มกันวิกฤตไทย


สังคมไทยกำลังเดินมาถึงจุดวิกฤตนี่เป็นคำพูดที่คนไทยเองใช้สรุปสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน  ทุกวันนี้สังคมไทยอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยวจะเรียกว่าเป็นสังคมขาดความอบอุ่นก็คงไม่ผิดนัก  เยาวชนถูกเลี้ยงดูด้วยเงิน  เติบโตมากับสังคมแบบวัตถุนิยม  ขณะที่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นแบบอย่างแก่เยาชนกำลังตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันกันหาเงิน  โดยมิได้เอาใจใส่สังคมหรือแม้แต่คนในครอบครัวเลย  สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่อยู่แบบตัวใครตัวมัน  เด็ก ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นถูกปล่อยให้อยู่แต่กับกลุ่มเพื่อน  รวมกลุ่มกันทำสิ่งที่ไร้สาระ  มีความเชื่อและค่านิยมที่ผิด ๆ  จนเลยเถิดถึงขั้นทำในสิ่งที่ผิดพลาดทั้งโดยตั้งใจและโดยไม่ตั้งใจ

คำถามที่หลายคนอดคิดไม่ได้  หลังจากที่ได้ติดตามข่าวจากสื่อต่าง ๆ  คือ  เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย  นับวันจะมีแต่ข่าวที่แสดงถึงความรุนแรง  ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ แก๊งค์วัยรุ่นไล่ฆ่ากันกลางถนน  ชายหนุ่มฆ่าแฟนสาวที่บอกเลิก  หญิงสาวถูกฆ่าข่มขืน  โจรปล้นฆ่าแท็กซี่  พ่อข่มขืนลูกโดยที่แม่รับรู้หรือไม่รู้  ชายแก่หลอกลวงเด็กสาวหรือแม้แต่เด็กชาย  ข่าวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ผ่านการรับรู้แล้วก็ถูกลืมไปตามกาลเวลา  ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ทุกวันนี้คนในสังคมกำลังชาชินกับความรุนแรง  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่งหรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง  หากแต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน  เพราะปัญหาการขาดคุณธรรม  จริยธรรมของบุคคลส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมจนกลายเป็นปัญหาบ้านเมือง  และกลายเป็นปัญหาของสังคม  หลาย ๆ คนเน้นไปถึงการแก้กฎหมายให้มีบทลงโทษที่หนักขึ้น  เพื่อที่จะให้ผู้ที่จะกระทำผิดเกรงกลัว  มันอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่งแต่เป็นทางแก้ที่อาจไม่ตรงจุดนัก  เพราะถึงแม้ว่าจะแก้กฎหมายให้มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่านี้สักกี่เท่า  ก็คงไม่อาจขจัดความรุนแรงในสังคมให้หมดไปได้  แต่หากคนในสังคมมีคุณธรรมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตสำนึก  การทำความดี  ศีลธรรม  จริยธรรม  ความรับผิดชอบต่อสังคม  สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้สังคมไทยน่าอยู่ขึ้น  เสียงสะท้อนจากองค์กรต่าง ๆ ในสังคมมองว่าปัญหาทางด้านสังคมเกิดจากความล้มเหลวด้านการจัดการศึกษา  ดังนั้น  การแก้ไขปัญหาหรือภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่เกิดจากบุคลากรขาดคุณธรรม  จริยธรรม  จึงต้องสร้างสมดุลทางด้านคุณธรรม  จริยธรรมให้แก่บุคคลในสังคมโดยกระบวนการศึกษา  ซึ่งปรากฏให้เห็นจากกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญดังต่อไปนี้
1.  รัฐธรรมนูญ
2.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
3.  ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
การออกกฎหมายเพื่อใช้กับเยาวชนที่กระทำผิด  เช่น  นำตัวไปบำบัดทางจิต  บำเพ็ญประโยชน์  รณรงค์เลิกของมึนเมาและสิ่งเสพติด  ควบคุมความประพฤติ  ห้ามเข้าสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืน  เป็นต้น  นอกจากนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาส่งเสริมให้มีการรับเด็กที่มีคุณธรรม  จริยธรรม  เป็นโควตาพิเศษ  และเอาเรื่องของคุณธรรมมาเป็นคะแนนส่วนหนึ่งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ทั้งบทลงโทษและการสนับสนุนส่งเสริมนี้แสดงให้เห็นถึงการพยายามปลูกฝังในเรื่องของคุณธรรม  จริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชน  ขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้คนที่ทำผิดได้มีโอกาสกลับตัว
มหาวิทยาลัยทักษิณก็ให้ความสำคัญของนโยบายการส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรมในสังคมไทย  จึงได้จัดทำโครงการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยทักษิณประเภทรับตรง  วิธีพิเศษ  โครงการส่งเสริมนักเรียนคุณธรรม  จริยธรรมดีเด่น  และประพฤติตนเป็นประโยชน์แก่สังคม  มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสหรือช่องทางให้แก่นักเรียนที่มีคุณธรรม  จริยธรรมดีเด่นและประพฤติตนเป็นประโยชน์แก่สังคมที่มีผลการเรียนในระดับที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยทักษิณ  โดยเริ่มรับในปีการศึกษา  2551  ซึ่งผลการรับมีผู้ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษา  68  คน  อย่างน้อยโครงการนี้ก็ทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณมีผู้ที่มีความประพฤติดีเข้าศึกษามากขึ้น  เป็นส่วนส่งเสริมและจูงใจให้นักเรียนที่มีคุณธรรมและจริยธรรม  มีกำลังใจในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อไป  อีกทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนคนอื่น ๆ  ให้เล็งเห็นประโยชน์ของการประพฤติตนเป็นคนดี  มีคุณธรรม  จริยธรรม  นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนสอดแทรกคุณธรรม  จริยธรรม  ทั้งการสอนโดยสอดแทรกเนื้อหาหัวข้อคุณธรรม  จริยธรรม  หรือหลักสูตรให้มีรายวิชาที่สอนคุณธรรม  จริยธรรมโดยตรง  หรือการจัดกิจกรรมเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชน  มีขอบข่ายครอบคลุมแนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาความคิด  ความเชื่อ  ความรู้สึกและพฤติกรรม  ตามกรอบของค่านิยม  จารีต  ประเพณี  คุณธรรม  ศีลธรรมตามหลักศาสนา  มาตรฐาน  กฎเกณฑ์  และข้อบังคับต่าง ๆ ในสังคม  ตลอดจนสภาพที่อยากให้เป็นทั้งในระดับบุคคลคือเด็กและเยาวชน  และในระดับสังคม  และประเทศชาติ
มาตรฐานการศึกษาชาติกำหนดคุณลักษณะที่ดีของคนไทยที่พึงประสงค์  คือ  คุณธรรมและจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก  โดยคนไทยต้องมีการดำเนินชีวิตโดยสุจริต  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542  ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายแม่ทางด้านการศึกษาของชาติได้ให้ใจความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคลและถือว่าการเสริมสร้างคุณธรรม  จริยธรรมเป็นภารกิจหลักของสถาบันการศึกษา  โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติแห่งชาติได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาในลักษณะของกระบวนการเรียนการสอน  ในการเสริมสร้างคุณธรรม  จริยธรรมเอาไว้อย่างเป็นระบบ  เริ่มจากความมุ่งหมายและหลักการ  แนวทางการจัดการศึกษา  การจัดกระบวนการเรียนรู้  สาระสำคัญของหลักฐานและการประเมินผล
สาระที่ควรทราบของคุณธรรม  จริยธรรม   
คุณธรรม  จริยธรรม  คือ  ประมวลการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามทั้งกาย  วาจา  และจิตใจ  โดยถือประพฤติปฏิบัติเป็นนิสัยทั้งต่อตัวเอง  ต่อผู้อื่น  และต่อสังคม  ผู้ที่มีคุณธรรม  จริยธรรม  ย่อมเป็นที่รักใคร่และเป็นที่ต้องการของบุคคล  และหน่วยงานต่าง ๆ  บุคคลที่มีคุณธรรม  จริยธรรมดีงาม  มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.  เป็นผู้ที่มีความพอดี  ไม่ขาดไม่เกิน  ประพฤติตนสายกลาง  ไม่มาก  ไม่น้อยเกินไป
2.  เป็นผู้กระทำด้วยเจตนาดี  ด้วยความบริสุทธิ์ใจ  และทำไปเพื่อสิ่งที่ดีงาม  ไม่ใช่ทำด้วยการถูกบังคับ  หรือด้วยผลประโยชน์ใด ๆ
3.  เป็นผู้ที่มีเหตุผล  พอใจที่ได้ปฏิบัติต่อผู้อื่น  และเน้นประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ
4.  เป็นผู้ที่มุ่งสันติสุขหรือความสงบ  ไม่ใช่มุ่งความสมบูรณ์พูนสุขเป็นที่ตั้ง
5.  เป็นผู้ที่มีความพอ  รู้จักสละสิทธิ์ทางธรรมชาติ  เพื่อเห็นแก่ส่วนรวม  และปฏิบัติตามข้อผูกพัน  และหน้าที่ด้วยความพอเหมาะพอควร
6.  เป็นผู้ที่มีนิสัยอันดีงามในการทำหน้าที่  รับผิดชอบต่อหน้าที่  และทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
7.  เป็นผู้ที่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นและความยากต่าง ๆ  เอาไว้ได้ด้วยเหตุผล
8.  เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหรือมาตรฐานทางจริยธรรมได้เหมาะสมกับกาลเทศะอยู่เสมอ
แนวทางการเสริมสร้างคุณธรรม  จริยธรรม  ค่านิยม  และคุณลักษณะอันพึงประสงค์  มีผู้เสนอแนวคิด  หลักการ  กลยุทธ์  หรือนวัตกรรมในการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีมากสามารถสรุปเป็นแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
1.  ให้เรียนวิชาของสังคมศาสตร์  และพฤติกรรมศาสตร์  ช่วยให้เกิดการพัฒนาจิตใจ
2.  การเน้นย้ำให้ครู  อาจารย์  และเพื่อนช่วยกระตุ้นความตระหนักต่อสังคมทั้งในและนอกวิชาเรียน
3.  ครู  อาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดี
4.  เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี
5.  การจัดโครงการหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร  เพื่อพัฒนาจิตใจโดยตรง
6.  การสอดแทรกการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรม  เข้าไปในเนื้อหา  และกระบวนการเรียนการสอนทุกวิชา
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวย  คนจนอย่างไรก็ไม่ใช่อุปสรรคในการทำความดี  เพราะคุณคงไม่สามารถอ้างว่าคุณไม่มีเงินจึงไม่ต้องทำความดีหรือมีเงินจึงสามารถทำความผิดได้  คนทุกคนสามารถช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้นได้  เพียงแค่การยึดถือหลักคุณธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน  มีความรับผิดชอบต่อสังคม  เอาใจใส่คนในสังคม  ยกย่องคนดี  ไม่สนับสนุนคนเลว
ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม  จริยธรรมคือสิ่งสำคัญ  เช่น  หากคุณเป็นเจ้าของร้านขายของ  คุณก็มีจริยธรรม  โดยไม่ขายเหล้า  ขายบุหรี่ให้เยาวชน  หรือถ้าคุณเป็นช่างยนต์  คุณก็ไม่รับงานดัดแปลงรถจักรยานยนต์ให้กับวัยรุ่น  เจ้าของร้านเกมส์ก็ดูแลไม่อนุญาตให้นักเรียนหนีเรียนมาเล่น  เจ้าของสถานบันเทิงก็ไม่ให้เยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าไปเที่ยว  เพราะหากคุณเห็นแก่เงินที่ได้มา แต่มันกลับเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เยาวชนเหล่านี้ไปในทางที่ผิด
ตลอดจนถึงอาชีพทั่วไปในสังคม  เป็นหมอก็ต้องเป็นหมอที่ดี  เป็นครูก็ต้องเป็นครูที่ดี  เป็นตำรวจก็ต้องเป็นตำรวจที่ดี  ทุกคนควรทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด  รวมทั้งยึดหลักคุณธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน  คิดดีทำดี  เพราะการทำความดีไม่มีวันสูญเปล่า  หากทุกคนในสังคมช่วยกัน  สิ่งดีงามก็จะเกิดขึ้น 
คุณธรรม  จริยธรรมก็เหมือนกับอากาศ  แม้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า  ไม่สามารถจับต้องได้แต่หากขาดไปเราคงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น